วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เมตตา..ตัวเอง

วันนี้คุยกับน้องผู้หญิงคนหนึ่ง หลายครั้งฉันฟังเรื่องเล่าของเธอพบว่า เธอกำลังทุกข์ใจ อึดอัด กับความรู้สึกถูกกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นทางความคิด ความสามารถ และการตัดสินใจหลายๆ ด้านของเธอที่เธอต้องตัดสินใจทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์ ฉันแลกเปลี่ยนว่าฉันชื่นชมเธอ ว่าเธอเป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง และเรา 2 คนเป็นคนประเภทเดียวกัน ผู้ให้ type 2  แต่ก่อนฉันก็มักไม่ค่อยทน และเอาคืนกลับกับคนที่ฉันรู้สึกว่ากำลังกดขี หรือดูถูกความคิดฉันอยู่ไม่ทางใดทางหนึ่ง  แต่ว่าอาจเป็นปัจจุบัน การฝึกฝนตัวเอง กับพบว่า ความเก่งที่ว่ามันเป็นเหมือนดาบ 2 คมหากความเก่งนั้น เป็นการเพิ่มความเป็นตัวเป็นตน หรืออัตตาของเรา หากเราใช้มันอย่างนั้นเราอาจจะสูญเสียความสัมพันธ์ที่ไม่อาจหาได้ที่ไหน แต่ความรู้ หรือความคิดของเราที่ว่าแน่ หาได้ทั่วไป นั่นคือตอนนี้ฉันให้ความสำคัญของปัญญา ระดับความคิดความเห็น เป็นรอง กว่าความสัมพันธ์เสียแล้ว

ฉันนึกถึง คำสอนหลวงพ่อกล้วย ทุกคนเป็นอัจฉริยะได้เหมือนกันหมด ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีปัญญา เร่งรีบ เพียรเจริญสติ เพื่อให้เกิด วิปัสสนา เกิดปัญญาที่แท้จริง หากคิดเอา นึกเอา จะกลายเป็นวิปัสสนึกไปสะ

นี่อาจเป็นหนึ่งที่ทุกครั้งที่เราอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าดูถูก กดขี่ ความสามารถขึ้นมา หากเราเท่าทัน จิตที่เกิด เราอาจจะลด การเอาชนะ คะคานกันทางปัญญาโลกๆ อาจเป็นการลดความขัดแย้ง และสร้างเมตตาที่แท้จริงได้กระมัง

คุยกันถึงการให้
น้องมีนิทานน่ารักๆ มาเล่าต่อเสมอ
เธอว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งสมัยพุทธกาล มีเงินมากมายวันตาย ก็ขนก็เก็บไม่หมดใน 7 วัน แต่คงเป็นชาติสุดท้ายแล้วที่จะเป็นเศรษฐีเพราะเศรษฐีคนนี้มีเงิน แต่ไม่ใช้ ไม่เคยแม้แต่ทำบุญ ทำทาน น้องว่า มีพระองค์หนึ่งเทศน์ว่า มันเป็นตามลำดับพี่ ทาน ศีล และภาวนา คนเราต้องให้ทานก่อนพี่ แล้ว ศีล ภาวนาจะตามมา

ฉันกลับมานึกถึงคำสอนของหลวงพ่อกล้วยเป็นลำดับ พักหลังฉันพบว่า ใช่ หลวงพ่อว่า เราควรเรียนรู้จากสถานการณ์เล็กๆ เพื่อให้รู้จักกับสภาวะ เรารู้จักความอยาก ก็ตอนเราอยากอาหารนี่แหละ รู้จักอยากเล็กๆ เห็นความอยากก็อย่าเพิ่งกิน เห็นความเสียดาย อาลัย อาวรณ์มันไหม ตอนไม่ได้กิน จัดการกับสิ่งเล็กๆ นั่นแหละ ทำให้ได้ ทำให้เห็นก่อน พอตัวใหญ่ๆมา เราจะได้เท่าทันมัน รู้จักและดูแลตัวเองให้ได้มันจะล้นมาให้คนอื่นเอง
ฉันว่า ใช่ การให้ก็เช่นกัน หากเขารู้จักการให้เล็กๆ เขาจะให้ใหญ่ๆ เองกระมัง
ฉันไม่ได้แยกเรื่องงานหรือเรื่องครอบครัวเสียแล้ว หากเขาฝึกที่จะให้ใครด้วยเหตุอะไรก็ตาม จะด้วยเหตุแห่งการงาน หรือเหตุใดๆ เขาก็จะรู้จักการให้กับคนในครอบครัวเอง

หรือ...เขายังขาดอะไรที่เขายังไม่ได้ให้ตัวเองหรือเปล่าหนอ...

คุยกันยืดยาวจริงๆ ยาวจนถึงการเป็นกัลยาณมิตร
หากคนเรารู้วิธีการจัดการ กิเลส หากสภาวะจิตเรายังไม่ตั้งมั่น ทำถี่ๆ เข้าไว้ หากไม่ไหว กัลยาณมิตรจะเป็นคนที่ทำให้กระแสของความคิดไม่กลายเป็นคลื่นพายุเร่าร้อน หรือเป็นทางสุดท้ายที่จะเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ก่อนระเบิด แต่อย่าลืมการรู้ตัว หรือสร้างเขื่อนขึ้นมาถี่ๆ แทรกเข้าไปตามกระแสที่ร้อนแรงของความคิด กระแสจึงเบาบางจริงๆ ไม่ใช่กดทับ หรือรอเก็บมันไว้จนมันเกิดระเบิดหรือเป็นพายุที่บ้าคลั่งเข้าสักวัน

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ฤดูกาลชีวิต แซ่เจียม

วันนี้ดีใจจริงๆ ควบคุมทิฏฐิมานะที่ก่อตัว ตั้งแต่กลางคืน ความไม่พอใจทั้งหลาย ความเบื่อหน่ายทั้งหลายได้สำเร็จ กลางคืนหงุดหงิดเพราะเพิ่งรู้ตอนเย็นว่ากู๋กลับมา นว. รีบโทรหาหนาน หนานติดว่าจะรีบไปทำธุรกรรม ขอเป็นเช้าได้มั้ย นึกหงุดหงิดเพราะไม่แน่ใจว่า กู๋จะอยู่ช่วงเช้ามั้ย ทิฏฐิมานะเกิดขึ้นในใจได้ทำก็ได้ทำ ไม่ได้ทำก็ไม่ได้ทำ แต่ความคิดปรุงแต่งวิ่งมาปรุงว่า ทำให้คนอื่นเยอะแยะ แล้วทำไมจึงไม่ได้ทำให้คนใกล้ชิดที่เรารัก นึกเบื่อๆ ความอยากทำดีของตัวเองที่วิ่ง ที่คุยให้คนโน้นคนนี้ ทำนู้นทำนี่ จิตเกิดอยู่ มีความเบื่อหน่ายอยู่ ก็ดับและดูสลับไปมาจนหลับไป ตี 2 นอนอยู่ก็โดนผึ้งต่อยต้นคอ เห็นได้ชัดปวดมากๆ มันแยกไม่ได้กายกับใจ ต้องให้ทันแยกกายไม่ให้ใจร่วม กว่าจะนอนได้ไม่รู้กี่โมง ดูมีความวุ่นวายอะไรไม่รู้ช่วงกลางคืน แต่มีสติดีปวดแต่ไม่หงุดหงิด ตื่นเช้าขึ้นมาจัดการนัดแนะกับโบ้และกู๋ ได้เวลา 9.30 น.ชวนแม่ อี้เกี้ย พี่ตั๋นไปด้วย รวมตัวกันกว่าจะได้ 10.30 น. ดูตัวเองไม่หงุดหงิด แต่บอกทุกคนว่าหนานรออยู่นะ ดูทุกคนให้ความร่วมมือดี

       ตกลงใจทำบนห้องประชุม TyrePlus AT ThaiYon หนานชวนคุยพูดถึงการจัดการกับการเจ็บปวดของตัวเอง แบ่งปันประสบการณ์ หาพื้นฐานของแต่ละคน  กู๋ซึ่งเป็นเจ้าของวาระวันนี้บอกเล่า ถึงการยอมรับการเจ็บป่วยของตัวเอง ไล่เรียงการรับรู้การผิดปกติของร่างกายของตัวเอง มีเพียงเลือดกำเดาออก และมีเลือดลงคอ และปนเสลดออกมา บอกกล่าวถึงความผิดปกติของตนเองกับเนย (ลูกสาวกู๋เรียนแพทย์ปี 6) โดยมีความคิดเรื่องนี้ว่า หากเรารู้ว่าร่างกายเราผิดปกติเราควรรีบรับการรักษา อย่าไปคิดว่ามันจะหายไปเอง กู๋จึงเล่ารายละเอียดว่าการผิดปกติบางอย่าง กู๋เล่าว่าเนยบอกว่าปกติเลือดกำเดาออกมันจะลงคอ 3-4 วันผ่านมายังมีอาการ กู๋บอกไม่ปกติแล้วล่ะเนยจึงพาพ่อไปหาหมอครั้งที่ 1 ลำคออักเสบ ได้ยากลับมากิน กลับมากู๋ยังเฝ้าสังเกตุว่ามันมีความไม่ปกติอยู่และเรียกให้เนยดู ว่ายังมีเลือดออกอยู่ เนยจึงพาพ่อไปหาหมอหูคอจมูก และตรวจพบก้อนเนื้อหลังโพรงจมูก จากนั้นกู๋บอกว่าก็เข้ารับการรักษาตามขั้นตอน กู๋ว่ามีที่เนยหงุดหงิดว่าขั้นตอนมันช้า หมอช้า กู๋ว่าบอกเนยไป ไม่เป็นไรมันเป็นไปตามขั้นตอน ไม่ต้องหงุดหงิด เป็นการรอคอยของลูกคนหนึ่ง...

กู๋บอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ มากมายว่ามีการเจ็บปวดแบบไหนที่เคยพบเจอ ล่าสุดว่านกมันให้ตามลมเวลาฉายแสง กู๋ว่านั่งเป็นวันเพื่อจะฉายแสง 2-3 นาที แต่นกมันให้ตามลมเวลาฉายแสง นกว่ากล้ามเนื้อมันจะได้ผ่อนคลาย วันแรกหลับเลย

มาถึงการจัดการกับการเจ็บปวด แม่ว่า ใช้พุทโธ แล้วไม่ต้องคิดอะไร ปล่อยวาง
แม่ว่าแม่ทำแบบนี้ เวลาหงุดหงิดเจอปัญหาหนักใจ จะทำแบบนี้ แต่ไม่ได้ทำบ่อย
มีความเชื่อว่าสิ่งที่เสียมันต้องเสีย แล้วมันจะกลับมาวันนึง

กู๋ว่าผมก็ทำพุทโธ ไม่คิดอะไร คิดว่าต้องรักษา แต่ไม่ต้องคิดว่าจะหายหรือไม่หาย ไม่ต้องคิดว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ อะไรที่วันนี้ทำเพื่อการรักษาผมก็ทำ ถึงเจ็บผมก็ทำ เจ็บคอ ผมก็หาอะไรนิ่มๆ กลืนถ้าไม่กลืนเดี๋ยวหลอดอาหารมีปัญหา

หนานชี้ให้ทุกคนเห็นผ่านประสบการณ์ของพี่ตั๋นว่า หากเราทำบ่อยๆ จะทำให้เราทำได้เก่งเมื่อเวลาเราพบเจอความเจ็บปวด

จบลงด้วยการทำ BodyScan หนานลำเรียงเรื่องราวของชีวิต ความเกิดแก่เจ็บตาย

check out
พี่ตั๋นว่าได้ refresh อีกครั้ง

นกรู้สึกพูดอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าอยากเอาเรื่องดีๆ การดูแลตัวเองให้กู๋เม้งเพราะอ่านเจอหมอจุฬาเขาไม่สบายแล้วเขาใช้การทำสมาธิตอนฉายแสงแล้วดี..เราว่ามันไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์เราเลยอยากทำให้กู๋
จริงๆ แล้วพูดไม่ได้ตรงกับใจ อายหรือเขินมั้งที่จะบอกคนในบ้านว่าทำให้คนอื่นตั้งเยอะ อยากทำให้คนในบ้านมาตั้งนานแล้ว

อี้เกี้ยว่า ไม่รู้จะพูดอะไร

โบ้ว่า นึกถึงตอนทำแบบนี้ก่อนสอบเอ็นทรานซ์ รู้สึกดี วันนี้ก็รู้สึกดี ทำให้นึกถึงวันนั้น

แม่ว่า ไม่รู้จะพูดอะไรก็ไม่คิดอะไร ปล่อยวางเวลาหงุดหงิด อะไรจะเสียก็ต้องเสีย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

กู๋ check out ได้ดีกู๋ว่า ก็กลับไปสู้ต่อ


ดีใจจริงๆ ได้ทำสิ่งที่อยากทำเรื่องหนึงในชีวิต
หนานว่า สำหรับคนแก่อย่าพยายามคิดเปลี่ยน แต่ช่วยให้สิ่งที่เขาทำทำให้ชัดขึ้น เราหาพื้นฐานของเขาแล้วพาเขาทำให้รู้จักกับความสุขสงบที่เจอเป็นเรื่องแรก
แล้วพาเขาทำบ่อยๆ

ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ ขอบคุณหนาน ขอบคุณพี่หมอไก่ ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ดูแลเรา วันนี้ทิฏฐิมานะเรื่องต่างๆ หายสิ้น วันนี้พูดคุยกับใครก็มีกลิ่นอายความสุขทีแบ่งปันให้ ไม่ว่าจะเป็นพี่ขายขนมเบื้อง น้องพยาบาลปี 3 การพูดคุยกับพระอาจารย์ทิพย์ จะไม่ประมาทและระลึกถึงวันนี้บ่อยๆ

...เป็นวันดีวันหนึ่งที่จะผ่านไป เป็นฤดูกาลของชีวิต ของคนตระกูลแซ่เจียม เป็นประโยชน์กับความไม่ประมาทของชีวิต
ขอให้บุญกุศลที่ทำมาในอดีตชาติ และปัจจุบัน มอบให้แก่พ่อแม่ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง ครูบาอาจารย์ เทวดา พระมหากษัตริย์ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร ที่ทุกข์ขอให้พ้นทุกข์ ผู้ที่สุขขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป....

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความกลัว

เมื่อคืนเราคุยกันในกลุ่ม พูดเรื่อง ความกลัว
พี่คนหนึ่งเป็นพ่อ เล่าว่า ลูกมาปรึกษาเรื่อง สถานการณ์ที่เขาประสบ คือเขาไม่พอใจเพื่อนของเขาคนหนึ่ง ทุกครั้งที่มีการประชุม เพื่อนคนนี้จะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เขารู้สึก

"...โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ การงานการประชุมที่เขาคิดเขาวางไว้ ไม่เป็นไปตามที่เขาคิด ในฐานะเขาเป็นประธาน เป็นหัวหน้า เขารู้สึกควบคุมไม่ได้..."

อาการในคำพูดเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านผู้เป็นพ่อ
พี่คนนั้นถามฉันว่า..ลูกเขาควรทำอย่างไร
เขาว่า เขาแนะนำสิ่งที่ควรจะทำไปหมดแล้ว แต่ดูเหมือนสถานการณ์เดิมๆ กับอาการเหล่านี้ยังปรากฎเป็นประจำในการบอกเล่าของลูกให้พ่อฟัง

ลุง ป้า น้า อา ทั้งหลายต่างวิเคราะห์หาสาเหตุ
เขากลัวไงล่ะ เขากลัวอะไร สืบค้นไป
กลัวเสียหน้า มีพี่คนหนึ่งยืนยัน
....
ฉันว่าดีแล้ว เขารู้สภาวะ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา
ส่วนเรื่องการจัดการ กับสภาวะนั้น ให้เขามีสติ กับตัวเขาเอง เขาฝึกขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวเขาคล่อง เขาก็จะจัดการได้เอง..นี่แหละปัญญา

ส่วนการแสวงหาวิธีการจัดการกับคนที่เป็นเหตุ ปัญญาจะนำพาเขาจัดการได้เอง
อย่าหลงทางแสวงหาการจัดการกับภายนอก
ให้รีบหันกลับมาจัดการต้นเหตุที่แท้จริงภายในตนเอง..เป็นสำคัญ
สืบค้นความกลัว กลัวอะไร มันไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เขาประสบพบเจอทุกวัน
ยิ่งสืบค้นอย่างไม่มีสติ ก็ปล่อยต้นความโกรธ โทสะ เจริญเติบโตขึ้น
เอายาเร็วให้เขาก่อน...กลับมารู้เนื้อรู้ตัวให้เร็ว ค่อยสืบค้น
คราวนี้ค่อยจัดการทั้งข้างนอก และข้างใน
.......
ฉันนึกถึงตอนฝึก เดินเข้าป่าช้า นั่งข้างหลุมศพ ยามค่ำคืน
ทำไมต้องเดินเข้าป่าช้า
เพราะเห็นความกลัวได้ชัดเจน อาการทางกายจะแสดงออกก่อน ขาสั่น มือเย็น ใจเต้นเร็ว ที่โบราณว่ากลัวจับใจ เสียงใบไม้ไหว กิ่งไม้ในความมืด ความคิดจะเล่นงาน ภาพเดิมๆ ที่ถูกสอน ผี..ผี..ผี เขาจะออกมายามค่ำคืน ...เห็นมั้ยนั่นแหละอาการของความกลัว...กลัวความคิด อันเป็นประสบการณ์เดิมๆ หรือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง ได้ดูตามหนัง..มันตามมาอย่างชัดเจน
ฉันผ่านมันมาอย่างไม่ยากเย็น
....
แต่ใครจะไปรู้ว่าเราจะกลัวอะไร ถ้าเราไม่พบไม่เจอประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง
การเจอะเจอ ประสบการณ์ ที่ทำให้เราค้นพบว่า เรากลัวอะไร สำหรับนักฝึกฝน แล้วเป็นแบบทดสอบว่า ที่ฝึกมาทั้งหมดนี่ ทำได้ หรือเท่าทันมั้ย เมื่อเจอ
แล้วฉันก็พบ
.....
เดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ ฉันไปที่วัดกาฬสินธุ์(ว่าป่าธรรมอุทยานสาขา 2) วันหนึ่งเราไปที่เขื่อนด้านหลังวัด มีพระ 3 รูป พระอาจารย์นัย หลวงพี่ศักดิ์ พระชาญ(ตอนนั้น) เป้ นี นก และหมาอีก 3 ตัว มีแพหาปลาอยู่กลางเขื่อน ต้องนั่งเรือแจว ไปที่แพ เรือแจวที่นั่งได้อย่างมาก 3 คน ก่อนลงไปนั่งหลวงพี่ศักดิ์ต้องวิดน้ำออกด้วย ท่านถามใครจะไปก่อน ฉันว่าฉันก็ได้ ก็ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร ว่ายน้ำก็ไม่แข็งเลย แถมผู้แจวเรือเป็นหลวงพี่ศักดิ์ ก็มีความมั่นใจในการลงเรือไปกับท่าน มีนีไปด้วย พอไปถึงแพเวิ้งน้ำกลางเขื่อน ที่ดูจากบนฝั่ง แพหาปลาอันใหญ่โตกว้างยาว ประมาณ 3 x 8 เมตรครึ่งหนึ่งด้านหน้าเปิดโล่ง มีปลูกต้นไม้ผักสวนครัวอยู่ตรงกลาง ด้านหลังเป็นเหมือนห้องมีหลังคา ดูแล้วแข็งแรงปลอดภัยดี พอไปถึงแพ ฉันเห็นลำไผ่ที่ลอยอยู่เหนือน้ำ มีน้ำท่วมปิ่มๆ แพที่กว้างใหญ่ส่วนหน้า เป็นการมัดไผ่ 4 ด้านเป็นขอบ ความกว้างให้คนยืนได้ตรงๆ 1 คนเท่านั้น ส่วนตรงกลางเป็นช่องโหว่ เหมือนกับขอบของกรอบรูป ที่ตรงกลางเป็นน้ำ ฉันรู้สึกกลัวจับใจ มันไม่ปลอดภัยเหมือนแพที่เราเคยขึ้นอย่างแพบ้านเรา หรือ แพกาญจนบุรีที่ไปเที่ยว หลวงพี่ศักดิ์ส่งฉันลงบริเวณส่วนหน้า ฉันต้องก้าวเดินไปต่อถึงส่วนหลังเองที่มีหลังคา ฉันก้าวไปบนแพในท่านั่ง มันนั่งอยู่ตรงนั้น มันลุกไม่ขึ้น น้ำหนักตัวน้อยเสียเมื่อไหร่ ยิ่งทำให้ไม้ไผ่มันยุบตัวลงเหมือนตัวเราอยู่บนผิวน้ำ เวิ้งว้างไปหมด ความกลัวมันจับจิตจับใจมากขึ้นไปอีก อย่าแค่เดินเลย มันทรงตัวได้แค่ท่าเหมือนคนเตรียมวิ่ง มือเกาะกับไม้ไผ่ที่นั่งยองๆ อยู่ แม้แต่จะตั้งตัวเพื่อยืน ยังไม่สามารถ ขา ตัวมันเกร็งแข็งไปหมด เหมือนกับนั่งอยู่บนเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ เพื่อนฉัน นี ที่มาพร้อมกัน ลงข้างหน้าฉันห่างไปอีกสัก 1 ช่วงแขน นียื่นแขนมาเพื่อรับฉัน ฉันตะโกนบอก แกใจเย็นๆ รอเดี๋ยว ฉันยังนั่งอยู่ท่านั้นลุกยืนไม่ได้ นีว่า แกนั่นแหละใจเย็นๆ บนฝั่งฉันมองเห็นพระอาจารย์นัยกำลังยืนกอดอกมองมาที่ฉัน หลวงพี่ศักดิ์ ยิ้ม เหมือนจะหัวเราะ อยู่ในเรือแจว ที่ริมฝั่ง เตรียมไปรับเพื่อนๆ คนอื่น ฉันไม่สามารถยืนขึ้นจริง นีก็ไม่สามารถเอื้อมมือมาช่วยฉันได้ ฉันไม่สามารถลุกขึ้นมาเอื้อมมือไปหานีได้ จริงๆค้นพบว่าเราไม่ไว้วางใจนีพอ เพราะฉันค่อยๆ ลุกเอื้อมมือไปจับมือ เจ้าของแพที่ต้องพายเรือ มาช่วยฉัน มาจับมือจูงมือฉันไปจนถึงส่วนของมีหลังคาจนได้ วันนั้นเรากลับมาสนทนาธรรม ส่วนของพระท่านว่า โยมนกเจอสิ่งที่กลัว ที่ไม่สามารถที่จะควบคุมกายได้เสียแล้ว เป็นโจทย์ที่ต้องกลับมาฝึก หากเรารู้เนื้อรู้ตัวได้เท่าทัน ร่างกายเราก็จะผ่อนคลาย ดูแลร่างกายตัวเองได้ การฝึกมาทั้งหมดมันแสดงเมื่อเจอ หรือประสบพบเจอกับสถานการณ์ว่าเราไม่เท่าทันพอ
....
การเจอสิ่งที่เรากลัวจึงเป็นแบบทดสอบ ที่ทำให้เราได้ฝึกฝน ไม่ใช่เจอเพื่อบอกว่าเราเก่งเราแน่ เราผ่านมันมาได้ มันเป็นเพียงการผ่านเพื่อให้เราฝึกจำสภาวะ ได้นำมาใคร่ครวญ หากเราเจออะไรที่เราไม่เคยเจอ การเท่าทันที่เราสามารถกลับมารู้เนื้อรู้ตัว เราเท่าทันกลับมาสัมผัสลมหายใจได้อย่างมีสติ มีปัญญารอบที่จะจัดการได้อย่างรวดเร็วทั้งภายในและภายนอก ทักษะนั่นต่างหากคือปัญญาที่เราต้องสะสมเป็นประสบการณ์ เป็นทักษะที่ต้องคล่องและเรียกใช้ให้ได้เท่าทันสถานการณ์
...
การยืนอยู่นอกถ้ำ เพื่อบอกเขาว่าให้เดินออกมานอกถ้ำ นอกถ้ำไม่น่ากลัวอย่างที่เขาคิด
การบอกว่า ให้หันหน้าเพื่อเดินตามแสงปากถ้ำ แล้วออกมา ... จึงช่างยากเย็น
เพราะเขายังอาจหันหลัง และกลัวกับเงามืดที่ปรากฎบนผนังถ้ำ ที่ได้มาจากประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม และความคิดที่หล่อหลอมมา

เราอาจต้องยืนยันถึงความเป็นเพื่อน ที่ยังอยู่ในถ้ำกับเขา (เพราะจริงๆ เป็นเช่นนั้น)
เราเพียงหันหน้าหาปากถ้ำ เห็นแสงสว่าง และเริ่มเดินทางไปปากถ้ำ เพื่อสักวันจะออกนอกถ้ำ
บางครั้งเราก็เผลอหันหลังและกลัวเงาที่ปรากฎบนผนังถ้ำเช่นกัน
จนบางครั้งความกลัวทำให้ถอยหลังกลับไปชิดผนังถ้ำเข้าไปอีก..
แต่ไม่เป็นไร
เรารู้วิธีที่จะหันกลับมาหาแสงสว่าง และเดินต่อเพื่อออกนอกถ้ำ
เราจึงเป็นแค่เพื่อน ของเขา เพราะเราและเขา ต่างมีเส้นทางเดินของตนเอง
และเราแบ่งปันกันได้แค่วิธีหันหน้าไปหาแสงสว่างทางปากถ้ำ
แต่การหันตัวหันหน้ามาปากถ้ำต้องทำเอง
ทำแทนกันไม่ได้ และไม่มีใครสามารถจับใครหันมาให้เห็นแสงสว่างนั้นได้...
....

จริงจังอีกละ ..ฟังเพลงดีก่า
Road to nowhere

http://www.youtube.com/watch?v=-wgrM-R6yfY

http://www.youtube.com/watch?v=ER5AZDzrvRk

Well we know where we’re going
But we don’t know where we’ve been
And we know what we’re knowing
But we can’t say what we’ve seen
And we’re not little children
And we know what we want
And the future is certain
Give us time to work it out

We’re on a road to nowhere
Come on inside
Taking that ride to nowhere
Well take that ride

I’m feeling okay this morning
And you know,
Were on the road to paradise
Here we go, here we go

Maybe you wonder where you are
I don’t care
Here is where time is on our side
Take you there...take you there

Were on a road to nowhere
Were on a road to nowhere
Were on a road to nowhere

There’s a city in my mind
Come along and take that ride
And it’s all right, baby, it’s all right

And its very far away
But its growing day by day
And it’s all right, baby, it’s all right

They can tell you what to do
But they’ll make a fool of you
And it’s all right, baby, it’s all right

We’re on a road to nowhere

พูดเรื่องเดียวกันแต่ บันเทิงกว่าเยอะ..แหงะ ตัววิจารณ์ ออกอีกแล้ว

ต้นสาละ

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วิชาพึ่งตนเอง

กระบวนการเรียนรู้ คือ เรียนรู้จากประสบการณ์

วิชาที่ต้องเรียนรู้ คือ วิชาพึ่งตนเอง

ชีวิต ไม่มีอะไรมากไปกว่า กาย กับ ใจ

กาย และ ใจ ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่า

อาหาร อากาศ และ ความแข็งแรง

ถามตัวเอง ว่าวันนี้ เราอยู่ได้ด้วยตัวเองไหม
ทั้งกายและใจ

ต้นสาละ...

การพึ่งตนเอง กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ได้มีโอกาสคุยกับพี่หมอไก่ หลังทำวัฒนธรรมองค์กรมาสัก 3-4 เดือนที่ผ่านมา การทำกระบวนการเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงในชีวิตของคนในบริษัท อันเป็นชุมชน ที่ใช้วิถีชีวิตร่วมกัน ความต้องการส่วนใหญ่ ก็ดูเหมือนกับความต้องการของคนทั่วไปๆ ในสังคม ต้องการมีเงินมากขึ้น ต้องการมีครอบครัวที่มีความสุข ต้องการมีรถสักคัน ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ต้องการมีร้านเล็กๆ ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมายเราเองก็มีความต้องการไม่ต่างไปจากพวกเขา อาจมากกว่าเขาอีก ต้องการมีความรู้ ต้องการมีอำนาจ และอื่นๆอีกมากมายเช่นกัน

หากหันกลับมาใคร่ครวญเป็นส่วนตัวแล้ว ก็พบว่า เราเองก็ใช้ชีวิตแบบถูกหลอก เหมือนๆ กัน หากเราเอาโลกของเรา ไปแสดงเหตุผลว่าความต้องการของเขามันผิด ไม่ถูกต้อง คงไม่ใช่ศิลปะในการใช้ชีวิตร่วมกันแน่ๆ

เราถูกใครหลอกหรือ ฉันสืบค้นลงไป ความต้องการที่มากมาย ทำให้เราวิ่งวุ่น กระวนกระวาย ร้อนรน กับการใช้ชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการตัวเอง ไม่ว่าเราจะบอกว่าความต้องการนั้นดีหรือไม่ก็ตาม และความต้องการที่เราต้องการได้รับการตอบสนองมากที่สุด ก็อาจจะเป็นคุณค่าที่เรายึดถือไม่ปล่อยเช่นกัน

ฉันบอกพี่หมอไปว่า แล้วเราทำไมต้องการสิ่งนั้นๆ เรายิ่งต้องการความมั่นคงมากเท่าไหร่ แสดงว่าตอนนี้เรารู้สึกชีวิตเรายังไม่มั่นคง หากเราต้องการเงิน เพราะเรารู้สึกว่าเงินจะตอบสนองความต้องการของชีวิตเราได้ หากใครยึดถือเงินมากว่าเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชีวิต หากไม่มีเงิน ชีวิตก็จะอยู่ไม่ได้ หรือเพราะเราไม่เชื่อว่า เราอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เราไม่เชื่อว่าเราจะพึ่งตัวเองได้ถ้าไม่มีเงิน นี่คือหัวใจวิชาวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน มีโจทย์ในชีวิต เป็นคำถามดีๆ ว่า ชุมชนเราสามารถพึ่งตัวเองได้ไหม

ในความหมายไม่ใช่ปฏิเสธเงิน แต่เราเพียงสร้างโจทย์ที่ท้าทายสักหน่อย เราไม่ต้องว่ากันว่าความต้องการของใครถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี เราเป็นเพียงเพื่อนที่เดินทางร่วมกันที่มีเส้นทางของตัวเอง หากวันนี้ใครนิยมสะสมทรัพย์แบบใด หมายถึงเขาก็ยินดี ยินยอมแลกสิ่งเหล่านั้นด้วยหยาดเหงื่อ และปัญญาของเขา แต่หากใครนิยมสุขสบายทั้งกายใจ ไม่สะสมทรัพย์ ก็อยู่ร่วมกันได้ แต่เราจะมีการพิสูจน์ ทดลอง และทำเพื่อเรียกความเชื่อว่าเราพึ่งตนเองได้ ทั้งกายและใจ วันนั้นเราคงตอบตัวเองได้ว่าเราตื่นอย่างแท้จริง....เมื่อนั้นมีเงินก็ไม่มีปัญหา และศิลปะของการอยู่ร่วมก็บังเกิดถ้ามีเพื่อนเห็นและเชื่อเหมือนเรา

วันนี้คิดถึง ดร.เฮเลนา จริงๆ

"การสร้างเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขได้ คนในชุมชนต้องเป็นหลัก และมีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยว ต้องทำให้สังคม ชุมชนพึ่งตนเองให้ได้ ภายใต้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่มี หรือการกลับสู่ "รากเหง้า" เดิม แต่แค่นั้นไม่พอคนในสังคมต้องเรียนรู้เท่าทันระบบโครงสร้างเศรษฐกิจในองค์ รวม เพื่อ "เอาชนะ" ให้ได้"

ต้นสาละ...

************************************************************************************
บทความ
วันที่ 23 กันยายน 2552 13:00เศรษฐศาสตร์ความสุข อนาคตที่ยั่งยืนโดย : เปรมศิริ ฤทัยเจตน์เจริญ
ดร.เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์

ในโลกเศรษฐกิจยุคขับเคลื่อนด้วย GDP ทำให้คนวิ่งไล่ตามกระแสสตีฟ จ็อปส์ และวัตถุนิยมก็กลายเป็นสิ่งวัดค่า ของ "ความสุข"แต่ระหว่างทางของการเดินหาความสุข เรากลับพบ "ความทุกข์" มากมาย มุมมองของ ดร.เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ จึงเชื่อว่า เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Economics of Happiness) หรือ การกลับมาสู่ "รากเหง้า" เดิม เป็นคำตอบของความสุขดร. เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ เป็นนักคิดเชิงปรัชญาชาวสวีเดน ผู้ก่อตั้งและพัฒนาชุมชนระหว่างประเทศเพื่อนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม (ไอเส็ค) และเป็นเจ้าของรางวัลสัมมาอาชีวะ ปี ค.ศ. 1986 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นรางวัลโนเบลทางเลือก จากการสนับสนุนคนในท้องถิ่นให้จัดตั้งโครงการพัฒนาทางนิเวศวิทยาของลาดัก (Ladakh Ecological Development Project) ขึ้นแนวความคิดของ เฮเลนา แตกต่างสิ้นเชิงกับโลกของ "ทุนนิยม" ที่ขับเคลื่อนด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) การต่อต้านกระแสโลกสมัยใหม่ (Modernization) และโลกาภิวัตน์ (Globalization) แต่มีความเชื่อเปี่ยมล้นในเรื่อง เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข (Economics of Happiness)เฮเลนา เดินทางไปรอบโลกเพื่อขายความคิดนี้ ซึ่งล่าสุด มูลนิธิสัมมาชีพ ได้เชิญเธอมาเพื่อเปิดมุมมองใหม่เธอ ยืนยันแนวความคิดว่า ระบบทุนนิยมกัดกร่อนสิ่งที่ดีงามในสังคมเล็กๆ ทำให้คุณค่าแห่งความเป็นคน และคุณภาพชีวิตของคนลดทอนลง กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ การแก่งแย่งแข่งขัน และท้ายที่สุดลัทธิทุนนิยมก็กลายเป็นตัวที่ทำลายระบบเศรษฐกิจ จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ในโลกทุนนิยม ประเทศต่างๆ เรียกร้องให้เปิดโลกการค้าเสรี เพื่อความคล่องตัวทางการค้า และมองว่า นี่คือการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่าง "คุ้มค่า" แต่ในสายตาของนักกิจกรรมคนนี้เห็นต่างว่า ระบบการค้า และธุรกิจที่ใหญ่เป็นปัญหา เป็นการครอบงำโลก"โครงสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ใหญ่จนทำให้คนแขนยาวจนยืดไปอีกซีกโลกได้โดยไม่เห็นมือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนผลิต คนขาย หรือแม้แต่คนบริโภค แต่ความใหญ่ได้ทำลายชุมชน ความเป็นตัวของตัวเอง และสิ่งแวดล้อม"แท้จริงแล้ว "ต้นตอ" ของปัญหาเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความมหึมาจนกำหนดเทรนด์โลกความใหญ่โต และกรอบความคิดที่มุ่ง "กอบ และโกย" ทำให้ความสมดุลขาดหายไป โดยเฉพาะกิจกรรมการผลิต การทำธุรกิจที่เน้นกิจกรรม "เชิงเดี่ยว" เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจด้านความ "คุ้มค่า" (Economy of scale)ในเชิงเศรษฐศาสตร์ Economy of scale ทฤษฎีที่สั่งสอนกันมา เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานเดียวกัน ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ขายได้มาก และได้กำไรที่มากขึ้นแต่สำหรับเฮเลนา ทฤษฎีนี้เป็นสิ่งที่นำความหายนะมาสู่สังคม ลามไปถึงปัญหาการว่างงาน"เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ที่รัฐบาลต่างๆ ผลักดันให้ประชาชนปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างผลผลิตให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ความหลากหลายของโครงสร้างถูกทำลาย แต่แท้จริงแล้วการปลูกพืชหลากหลายให้ผลผลิตที่มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว"เฮเลนา บอกว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกฝึกมาในกระแสหลักไม่อาจแยกแยะคุณค่าของการผลิต "อาวุธ" กับ "ข้าว" หรือผลผลิตต่างๆ ได้ เพราะพวกเขามีเพียงเป้าหมายแค่ "กำไร""เพราะหากเราต้องการผลิตลูกบอล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ให้มีขนาดเดียวกัน การผลิตแบบโครงสร้างขนาดใหญ่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า"แต่หลงลืมไปว่า ประสิทธิภาพที่มาจากเครื่องจักรได้ไปเบียดเบียนแรงงานคน กลายเป็นปัญหาคนว่างงาน"ในสภาวะที่โลกเรามีประชากรมากถึง 6 พันล้านคน เราต้องเลิกการผลิตเชิงเดี่ยว และการใช้เครื่องจักร เพราะทำให้คนตกลงมากขึ้น สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย" เธอเรียกร้องชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกคุณค่าแห่งสังคมกลับมา เรียกร้องให้รัฐบาลหันมามองความผิดพลาดของระบบโครงสร้างที่ผิดปกติเหล่านี้พร้อมกับยกตัวอย่างคนใน "ลาดัก" ชุมชนอันเก่าแก่ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดียที่เธอเชื่อว่า เป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุดในยามที่ยังปิดตัวเองจากโลกภายนอกนอก"คนในลาดักมีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีคุณค่ามีศักดิ์ศรี ทำให้เขามีความสุขที่สุด"แต่หลังจากลาดักเปิดรับ "ความศิวิไลซ์" ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ศักดิ์ศรีของคนลาดักถูกกดลงต่ำจากการประเมินด้วยตาฝรั่งตาน้ำข้าว"คนลาดักเห็นว่าตัวเองด้อยกว่าสังคมโลก และหันมาให้ความสำคัญกับโลกภายนอก มันอาจจะฟังดูเกินจริง แต่นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เปลี่ยนจากขาวกลายเป็นดำ กลายเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความไม่เป็นสุข"เธอบรรยายไว้ในหนังสือ "อนาคตอันเก่าแก่" ไว้ว่า ถ้าคนลาดักตัดสิน เขาเหล่านั้นย่อมเป็นคนจน เพราะชีวิตยากไร้ แร้นแค้น ไม่สะดวกสบาย ขาดทรัพย์ศฤงคารนานาประการ แต่เขามีวัฒนธรรมอันงดงาม แม้จะมีผ้าเพียงน้อยชิ้น แต่ละชิ้นก็ผลิตด้วยตนเอง อย่างประณีต แสดงว่าเขามีกุสุมรส ทั้งยังรวยน้ำใจกันแทบทั้งนั้นเขาพอใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย พึ่งตนเองได้ ภูมิใจในศักดิ์ศรีของตนเอง พร้อมๆ กับการพึ่งพากันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยนับถือธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ว่าเป็นดังหนึ่งพี่ดังหนึ่งน้อง เขาเห็นคนแปลกหน้าเป็นดังหนึ่งมารดาของเขา เขาจึงมีทั้งสุขภาพ อิสรภาพและภราดรภาพ โดยที่คุณธรรมข้อหลังนี้ไม่มีเอาเลยในเมืองฝรั่งก็ว่าได้เพียงไม่นานที่กระแสสมัยใหม่เข้าครอบงำ หนุ่มสาวลาดักทำงานด้วยความเครียด และกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแก่งแย่ง มีคนมากถึง 6 พันคนจบปริญญา แย่งงาน "เสิร์ฟน้ำชา" ที่รับเพียง 300 คนและสถิติการฆ่าตัวตายของคนลาดักมีเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจการตระเวนไปทั่วโลก ทำให้เห็นชัดว่า คนส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทาง "ศิวิไลซ์" ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบอารยธรรมตะวันตกที่ถูกยกย่องว่าเป็น "ผู้นำ" กลายเป็นการปฏิเสธตัวเอง และพากันทำศัลยกรรม เสริมจมูก เปลี่ยนสีผิวอุตสาหกรรมศัลยกรรมกลายเป็นเรื่องฮิตๆ ไปทั่วโลก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ คนยังตัดแต่ง ดัดแปลงตัวเองให้เหมือนนางแบบในทีวีเฮเลนา บอกว่า ถึงเวลาที่เราจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้วยการกลับไปสู่ "รากเหง้าเดิม" เธอ เชื่อว่า ในหลายสังคม ชุมชน เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจท้องถิ่น และเริ่มสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่เป็นอยู่ กลับมาสู่เศรษฐกิจที่มีขนาดเหมาะสมกับชุมชนแค่นั้นคงไม่พอตราบใดที่รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนการค้าเสรี ให้เงินสนับสนุนกิจการขนาดใหญ่ แต่ควบคุมและรีดภาษีกับธุรกิจขนาดเล็ก เธอ บอกว่า ขบวนการรากแก้วของประเทศจะต้องร้องเสียงดังๆ ให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่น "เชิงนโยบาย" เพื่อให้ชุมชนเล็กๆ มีความเข้มแข็งและเลี้ยงตัวเองได้ และพร้อมเป็นที่พึ่งแก่กันเธอยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้รัฐบาลขานรับแนวคิดที่อยู่คนละขั้วกับทุนนิยม เพราะตราบใดที่ความสุขมวลรวมของประชาชนไม่สามารถขับเคลื่อนให้จีดีพีประเทศ เติบโตขึ้นไปแข่งขันในเวทีโลกได้ ก็เมินซะเถอะ"การที่ชุมชนเดือนร้อนแล้วพี่ช่วยน้องไม่ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น แต่กิจการค้าขายต่างหากที่ทำให้จีดีพีเพิ่ม หรือถ้าพวกเราเป็นมะเร็ง มีการฉายแสดง ผ่าตัด ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้จีดีพีโต แต่การทำเกษตรอินทรีย์ แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ไม่ได้ทำให้จีดีพีโตหรอกนะ"วาทะเปรียบเปรยทำให้เห็นภาพชัดแจ่มแจ๋วในความเห็นของเฮเลนา การสร้างเศรษฐศาสตร์แห่งความสุขได้ คนในชุมชนต้องเป็นหลัก และมีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยว ต้องทำให้สังคม ชุมชนพึ่งตนเองให้ได้ ภายใต้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมที่มี หรือการกลับสู่ "รากเหง้า" เดิม แต่แค่นั้นไม่พอคนในสังคมต้องเรียนรู้เท่าทันระบบโครงสร้างเศรษฐกิจในองค์ รวม เพื่อ "เอาชนะ" ให้ได้แม้จะเป็นเรื่องยากก็เถอะเธอเชื่อว่า เศรษฐกิจแนวทางโลกยุคปัจจุบันทำให้โลกไปไม่รอด ไม่มีใครอยากอยู่ การปฏิวัติเศรษฐกิจเพื่อไปสู่เศรษฐกิจแห่งความสุขต่างหากคือสิ่งที่คนทั้ง โลกกำลังไขว่คว้า